ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1986 เงามืดกำลังแผ่ขยายปกคลุมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังจากที่พ่ายแพ้ต่อเซาแธมป์ตันไป 1 – 4 ร่วงตกรอบลีก คัพ ทีมปีศาจแดงก็ทำผลงานย่ำแย่ในลีกด้วยการตกไปอยู่ในโซนหนีตกชั้น ทางสโมสรต้องการกลับคืนสู่ความยอดเยี่ยมให้ได้นับตั้งแต่ เซอร์ แมตต์ บัสบี้ สละบัลลังก์ บอร์ดบริหารของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงตัดสินใจว่าถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว
ตลอด 5 ปีในการคุมทีม รอน แอตกินสัน พาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ 2 สมัย และก็ไม่เคยทำทีมจบอันดับต่ำกว่าที่ 4 ในลีกเลย แต่ถึงกระนั้นบิ๊กรอนก็ไม่เคยพาทีมจบ 2 อันดับแรกได้เลยเช่นกัน
“แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่คาดหวังถึงมาตรฐานที่สูงอยู่ตลอด” มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ ประธานสโมสรในช่วงนั้นย้อนรำลึก “รอนอยู่กับเรามา 5 ฤดูกาล และเขาก็ทำผลงานได้ดี แต่เมื่อในฤดูกาลนั้นทุกอย่างเริ่มเป็นไปแบบผิดที่ผิดทาง เราก็ตัดสินใจที่ต้องเปลี่ยนแปลง หลังจบเกมที่เซาแธมป์ตัน ซึ่งผมคิดว่าเราน่าจะอยู่สักอันดับ 21 ได้ในลีก เราจึงประชุมกันทันทีระหว่างบินกลับเมืองแมนเชสเตอร์ และทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างแล้วในตอนนั้น”
“มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกเรื่องนี้กับรอน นั่นเพราะเขาไม่เคยพบกับความล้มเหลวมาก่อนเลย และก็เป็นคนที่มีความกระตือรือร้นมาก มันไม่ใช่เรื่องง่ายในการไปบอกผู้จัดการทีมสักคนว่าคุณตกงานแล้ว มันค่อนข้างยากเลยล่ะ แต่เราก็ต้องใช้เหตุผลที่ดีไปบอกกับเขา นั่นทำให้มันไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด”
เมื่อฤดูกาลก่อนหน้านั้น เขาพาทีมเปิดฉากด้วยการชนะ 10 นัดรวดในลีก แต่หลังจากนั้นทีมปีศาจแดงก็ทำแต้มหลุดมือบ่อยครั้ง สุดท้ายก็ต้องจบที่อันดับ 4 ในช่วงหลายเดือนแรกของฤดูกาล 1986/87 พวกสื่อก็เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตของแอตกินสันกันแล้วด้วยเหมือนกัน
เริ่มมีการหาตัวแทนในตำแหน่งของเขาตั้งแต่ยังไม่ถูกปลดออกจากตำแหน่งด้วยซ้ำ แฟร้งค์ คีทติ้ง จาก The Guardian มองถึงรายชื่ออย่าง ไบรอัน คลัฟ, ฮาวเวิร์ด เคนดัลล์, ดอน ฮาว และแม้กระทั่ง ไบรอัน ร็อบสัน ในฐานะผู้เล่น-ผู้จัดการทีม บางคนก็มองว่า เทอร์รี่ เวนาเบิ้ลส์ เป็นตัวเก็ง แต่สำหรับบอร์ดบริหารแล้ว พวกเขามองถึงชายคนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นที่พูดถึงในลิสต์ที่ว่ามานี้เลย
“มันมีอาจจะมีหลายรายชื่อที่ถูกนึกถึง โดยเฉพาะกับคนที่ทำผลงานได้ดีในช่วงนั้น แต่ไม่มีใครสักคนเลยที่เรานำมาพิจารณากันอย่างจริงจัง” เอ็ดเวิร์ดส์เล่าความหลัง “มันเป็นการตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์จากบอร์ดบริหารในการเลือก อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เขาคือตัวเลือกที่พวกเราทุกคนเห็นพ้องต้องกัน”
“เราเจอกับเขาครั้งแรกตอนที่เราเซ็นสัญญา กอร์ดอน สตรัคคั่น มาจากอเบอร์ดีน ตอนนั้นกอร์ดอนเซ็นสัญญาล่วงหน้ากับโคโลญจน์ไปแล้ว และเราก็ต้องการดึงตัวเขามาจากดีลในครั้งนั้นให้ได้ และอเล็กซ์ก็เข้ามาจัดการกับเรื่องนี้ เขาช่วยผลักดันให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เขาอยากให้กอร์ดอนย้ายมาอยู่ที่นี่เพราะมันจะทำให้อเบอร์ดีนได้เงินมากกว่าเดิม เขามีส่วนช่วยเราได้มาก และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่เราได้ทำความรู้จักกับเขา”
“เรารู้ดีว่าเขาทำผลงานได้ดีแค่ไหนในการแย่งแชมป์จากทั้งกลาสโกว์ เรนเจอร์ส และเซลติก แถมเขายังคว้าแชมป์คัพ วินเนอร์ส คัพ 1983 ด้วยการเอาชนะเรอัล มาดริด ได้อีกด้วย นี่คือสิ่งยืนยันถึงฝีมือของเขาเป็นอย่างดี ตอนที่เราเจอกับเขา เราสัมผัสได้ถึงไฟที่ลุกโชนในตัวเขา เช่นเดียวกับการจัดการกับเรื่องต่างๆ นั่นยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกเลยว่าเขาเป็นคนที่น่าประทับใจแค่ไหน”
แม้ว่าทุกคนจะลงความเห็นกันได้แล้ว แต่การคว้าตัวเขามาทำทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันใดๆ ทั้งสิ้นว่าเฟอร์กูสันจะต้องการย้ายมาที่นี่จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขากำลังไปได้สวยกับงานคุมทีมในบ้านเกิดของเขาอยู่ด้วย
“เราไม่ต้องการจบเรื่องนี้แบบหน้าแตก” เอ็ดเวิร์ดส์ยอมรับ “เราเลยตัดสินใจว่าจะหาคำตอบก่อนว่าอเล็กซ์พร้อมจะมาร่วมงานกับเราหรือไม่ ดังนั้น ไมค์ เอเดลสัน หนึ่งในทีมผู้บริหารของเราจึงได้โทรศัพท์ไปยังสโมสรอเบอร์ดีน และพูดคุยด้วยสำเนียงสก็อตติช แถมยังอ้างชื่อปลอม (ใช้ชื่อ อลัน กอร์ดอน เลขาส่วนตัวของ กอร์ดอน สตรัคคั่น) บอกว่าต้องการขอสาย อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จากนั้นอเล็กซ์ก็เข้ามาคุย ไมค์บอกว่ามีคนต้องการคุยอะไรกับเขาเล็กน้อย จากนั้นก็โอนสายมาให้ผม เรานัดเจอกับเขาในช่วงบ่ายวันนั้นเลยที่สก็อตแลนด์ มันค่อนข้างเป็นการเจอกันแบบลับๆ ผม, ไมค์, บ็อบบี้ (ชาร์ลตัน) และ มัวริซ (วัตกิ้นส์) ไปพบกับเขาที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง แล้วเขาก็พาเราไปนั่งคุยกันที่บ้านน้องสะใภ้ของเขา และหลังจากที่ได้คุยกัน เราก็ยิ่งมั่นใจว่านี่คือคนที่เราต้องการตัวจริงๆ
“แต่สุดท้ายเราก็ต้องรอคำตอบจากประธานสโมสรของพวกเขาก็คือ ดิ๊ค โดนัลด์ ซึ่งอนุญาตให้เขาย้ายออกจากทีมได้ อเล็กซ์บอกว่าเขาได้ทำข้อตกลงกับประธานสโมสรเอาไว้ว่าเขาสามารถย้ายออกไปได้หากว่ามีทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ติดต่อเข้ามา ในสัญญาของอเล็กซ์ระบุเอาไว้ว่าเขาสามารถย้ายไปคุมทีมใหญ่ได้ และ ดิ๊ค โดนัลด์ ก็เคยบอกไว้ด้วยว่า ‘คุณสามารถย้ายออกไปได้หากทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ติดต่อเข้ามา’ นั่นไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย จากนั้นผมก็โทรหาโดนัลด์ ในวันต่อมา และเขาก็ยินดีที่จะมาพบกับผม”
โดนัลด์ยังคงพยายามที่จะรั้งตัวกุนซือคนเก่งของเขาไว้ด้วยการเสนอให้เซอร์ อเล็กซ์ ได้สิทธิ์ถือหุ้นสโมสร แต่ก็ไร้ประโยชน์ การเจรจาสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างรวดเร็ว และเราก็เริ่มพูดคุยกันถึงเรื่องการขออนุญาตนำตัวเขามาคุมทีม มันใช้เวลาไม่นานเลย เซอร์ อเล็กซ์เองยอมรับถึงเรื่องนี้เอาไว้ใน Managing My Life หนังสืออัตชีวประวัติของเขาด้วยว่า “มันประเมินค่าไม่ได้เลยที่ผมได้เป็นแคนดิเดตแต่เพียงผู้เดียว และผมก็ดีใจกับมันมากด้วย”
2 วันหลังจากที่เซ็นสัญญากับทีม เฟอร์กูสันก็เริ่มต้นเกมแรกของเขาด้วยการแพ้ต่ออ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด ไป 0 – 2 มันเป็นผลการแข่งขันที่เกิดขึ้นเพราะสภาพความฟิตที่ย่ำแย่ของนักเตะในทีมอย่างที่เขาได้บอกเอาไว้ มันเป็นผลพวงมาจากวัฒนธรรมการดื่มของทีมที่ฝังลึกกับสโมสรไปแล้วในตอนนั้น กุนซือชาวสก็อตได้พูดกับลูกทีมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในโรงยิมที่สนามซ้อมเดอะ คลิฟฟ์
“ผมมีเป้าหมายง่ายๆ เลยคือการกอบกู้ชื่อเสียงของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่แทบจะเป็นสโมสรสังสรรค์มากกว่าสโมสรฟุตบอลในเวลานั้น” เขาเขียนเอาไว้ “ผมบอกกับพวกเขาว่าทุกคนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง เพราะผมจะไม่ยอมเปลี่ยนตัวผมเองแน่นอน”
หลังจากนั้นสภาพร่างการของนักเตะในทีมก็ดีขึ้นอย่างชัดเจน และเขาก็ยังเป็นผู้ฟื้นฟูระบบการพัฒนานักเตะเยาวชน รวมถึงทีมแมวมองด้วย ในเวลานั้น ควีนส์พาร์ค เรนเจอร์ส มาเตะในโอลด์ แทรฟฟอร์ด เป็นเกมเหย้านัดแรกของเฟอร์กูสัน เขาได้เขียนลงในคอลัมน์ United Review เป็นครั้งแรกโดยมีเนื้อหาตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นอันหนักแน่นของเขา
“การมารับงานให้กับสโมสรใหญ่อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถือเป็นงานที่สุดยอด” คือประโยคแรกในบทความของเขา จากนั้นเขาก็กล่าวต่ออย่างจริงจังว่า “ผมไม่ค่อยสนใจนักว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่นี่มาก่อนบ้าง ไม่ใช่ว่าผมไม่เคารพถึงความยิ่งใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้หรอกนะ นั่นเป็นเพราะเป้าหมายหนึ่งเดียวในตอนนี้คือการเดินไปข้างหน้าต่างหาก สิ่งเดียวที่สโมสรแห่งนี้ต้องการก็คือการคว้าแชมป์ นี่เป็นวิธีเดียวที่จะจัดการกับผีร้ายที่ตามหลอกหลอนเรามาตลอดในอดีต”
“มันจะต้องมีจุดเริ่มต้นเสมอ และผมก็คิดว่าการคว้าแชมป์นั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมสำหรับอนาคตของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ความสำเร็จมันเป็นอะไรที่จะต้องค่อยๆ สะสมขึ้นมา เหมือนอย่างที่ผมค้นพบที่อเบอร์ดีน… มันไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้เพียงชั่วข้ามคืน มันจะต้องใช้เวลาสัก 2 – 3 เดือนกว่าที่ผมจะสร้างความสัมพันธ์กับนักเตะภายในทีมได้ แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมจะพยายามทำให้ได้เร็วที่สุด และผมก็จะเต็มที่กับทุกนาทีที่นี่”
ตอนหน้า ยุคสมัยของ เซอร์ อเล็กซ์ : 1986-1991
SiR KeaNo
2001-2024 RED ARMY FANCLUB Official Manchester United Supporters Club of Thailand. #ThaiMUSC